วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555



น้ำใต้ดินเป็นอย่างไร
            


              แหล่งน้ำที่สำคัญในประเทศไทย

              แหล่งน้ำในประเทศไทยมีมากมาย ทั้งแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ที่สุด ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำแบทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย คือ น้ำฝน ปริมาณฝนที่ตกลงมาเมื่อไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ จะเรียกว่า  น้ำท่า และเมื่อซึมลงสู่ใต้ดินจะเรียกว่า น้ำใต้ดิน







น้ำฝน คือ น้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวของก้อนเมฆกลายเป็นหยดน้ำและตกลงมาสู่พื้นดิน










น้ำท่า คือ น้ำที่อยู่ในแม่น้ำ ลำธาร ที่เกิดจากน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่รับน้ำ บางส่วนจะสูญเสียไป ส่วนที่เหลือก็จะไหลไปยังที่ลุ่มลงสู่แม่น้ำลำธารกลายเป็นน้ำท่า






น้ำใต้ดิน คือ น้ำที่อยู่ในระดับใต้ดิน เกิดจากการดูดซับน้ำลงสู่ใต้ดิน สามารถแบ่งออกได้เป็น ชั้นน้ำเปิด ( Unconfined groundwater ) และชั้นน้ำปิด   ( Confined groundwater )








       แหล่งน้ำใต้ดิน หมายถึง บริเวณที่มีน้ำบาดาลสะสมตัวอยู่เป็นปริมาณมาก โดยแหล่งน้ำบาดาลที่ดีควรจะเป็นชั้นหินที่มีความโพรงตัวสูง และมีความซึมผ่านสูง ได้แก่ ชั้นกรวดทรายที่มีการทับถมกันใหม่ ๆ ยังไม่กลายเป็นหิน หินทรายที่มีความโพรงตัวและความซึมผ่านสูง หินปูนที่มีรอยร้าวและมีโพรงในหิน เราเรียกว่า หินน้ำซึม” (Aquifer) สำหรับการนำน้ำบาดาลมาใช้มี ลักษณะ คือ บ่อน้ำบาดาล (Deep Wells) เป็นบ่อที่มีระดับความลึกมาก ๆ ในทางวิศวกรรมไม่สามารถกำหนดระดับความลึกได้แน่ชัด การนำน้ำขึ้นมาใช้ต้องใช้เครื่องมือช่วยขุด บางแห่งเมื่อขุดลงไปอาจมีปริมาณน้ำมากในช่วงแรกเท่านั้น เราไม่เรียกว่าบ่อบาดาล เรียกว่า บ่อบาดาลปลอม บ่อบาดาลควรมีปริมาณการให้น้ำตลอดเวลาเนื่องมาจากน้ำใต้ดินบริเวณรอบ ๆ บ่อจะไหลเข้ามาแทนที่ตลอดเวลา บ่อน้ำตื้น (Shallow Wells) เป็นบ่อที่ขุดขึ้นโดยไม่ลึกมากนัก โดยระดับความลึกแค่ผิวดินขึ้นบนเท่านั้น สามารถขุดเจาะได้เอง การขุดบ่อน้ำตื้นควรมีระยะห่างจากส้วมซึมประมาณ 20 เมตร เป็นอย่างต่ำ บ่อน้ำตื้นจะมีปริมาณน้ำเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและสภาพภูมิประเทศบริเวณนั้น ทางน้ำซับ(Inflitration Galleries) มีลักษณะเป็นน้ำใต้ดินที่ไหลซึมผ่านชั้นดินตามแนวดิ่งไปสะสมตัวในชั้นหินในแนวนอนหรือแนวราบจนมีปริมาณมากและไม่สามารถไหลซึมผ่านไปได้อีกก็จะไหลไปตามแนวเทของชั้นหินหรือลักษณะภูมิประเทศ จนถึงจุดที่มีทางออก เช่น ตามลาดเขา หรือจุดตัดระหว่างชั้นหินกับบริเวณผิวดิน น้ำใต้ดินจึงไหลออกมาได้ จึงมักพบบริเวณลาดเขา หรือเชิงเขา บางครั้งพบว่าบางพื้นที่จะได้เห็นน้ำซับซึมจากชั้นดิน ถ้ามีปริมาณน้ำมากสามารถนำมาใช้ได้ ในกรณีที่น้ำไหลมีกำลังแรงมาก เรียกว่า น้ำพุ” มีประโยชน์ในการนำกลับมาใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค

         ความสำคัญของน้ำใต้ดิน น้ำใต้ดินนับเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของมนุษย์สำหรับอุปโภคบริโภค พื้นที่บางแห่งอาจมีความจำเป็นต้องใช้แหล่งน้ำใต้ดินเนื่องมาจากการขาดแคลนแหล่งน้ำผิวดิน เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่ามีปริมาณการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เป็นจำนวนมาก การนำน้ำใต้ดินมาใช้โดยการขุดเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปในชั้นหิน ซึ่งสามารถทำได้สะดวกและมีค่าใช้จ่ายน้อย ในทำนองเดียวกันการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุด สำหรับการขุดเจาะบ่อบาดาลมักขุดเจาะในแนวดิ่ง แต่ในบางบริเวณอาจทำในแนวนอน ลักษณะของทางน้ำซับซึ่งมักพบบริเวณเขตภูมิอากาศร้อนและแห้งแล้งแถบตะวันออกกลางหรือทางตอนเหนือของแอฟริกาในประเทศอิหร่าน เรียกว่า กราแนต” (Ganat) โดยการขุดอุโมงค์ในแนวนอนเข้าไปตามไหล่เขาที่มีการทับถมของตะกอนเพื่อให้น้ำไหลซึมมารวมกันแล้วนำน้ำไปใช้ ส่วนแถบหมู่เกาะฮาวายของประเทศสหรัฐอเมริกามีการขุดเจาะในแนวเฉียง ประมาณ 30 องศา เรียกว่า เมาอิ” (Maui) การขุดเจาะบ่อบาดาลโดยทั่วไปจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร หรือมากกว่า และบ่อจะมีความลึกประมาณ 300 เมตร อย่างไรก็ตามการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้อาจทำให้เกิดแผ่นดินทรุดได้ เนื่องจากการขุดและสูบน้ำขึ้นมาใช้ในปริมาณมาก ๆ ระดับน้ำในบ่อจะลดต่ำลง น้ำใต้ดินในบริเวณรอบๆ บ่อจะไหลเข้ามาแทนที่น้ำในบ่อน้อยลง จึงทำให้เกิดการทรุดตัวของดินโดยรอบบ่อมีลักษณะการทรุดตัวของแผ่นดิน บางครั้งเป็นรูปกรวย เรียกว่า กรวยน้ำยุบ (Cone of Depression)


         นอกจากนั้นแล้วน้ำใต้ดินอาจเกิดการเน่าเสีย มีสิ่งเจือปนได้เนื่องมาจากการทิ้งขยะมูลฝอย โดยปราศจากการปูรองก้นหลุมหรือการจัดการที่ดีพอ ทำให้เมื่อเกิดฝนตกลงมาน้ำที่ไหลแทรกซึมไปตามกองขยะจะชะล้างเอาสิ่งสกปรกแล้วพัดพาซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน หรือสารเคมีจากโรงงานล้วนมีผลต่อการเกิดมลพิษต่อน้ำใต้ดินทั้งสิ้น ตลอดจนสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงงานไฟฟ้าปรมาณูที่บรรจุภาชนะเหล็กนำไปฝังดิน เมื่อภาชนะดังกล่าวผุพังและมีน้ำไหลผ่าน น้ำจะละลายสารกัมมันตภาพรังสีลงไปด้วย นับว่าเป็นอันตรายอย่างมาก อย่างไรก็ตามประโยชน์ของน้ำใต้ดินนอกจากใช้ในการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น น้ำพุร้อน และน้ำพุร้อนยังมีการนำมาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนใต้พิภพได้อีก เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า การใช้พลังงานในการอบ หรือบ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร เป็นต้น



         จากการบรรยายข้างต้น อาจสงสัยว่าน้ำใต้ดินเป็นอย่างไร เราได้ทำวีดีโอเสนอ " น้ำใต้ดินเป็นอย่างไร " เป็นวีดีโอการ์ตูนที่สามารถดูและเข้าใจได้ในทุกเพศและทุกวัย ลองชมกันเรยดีกว่า







       









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น